ยินดีต้อนรับสู่ หน่วยที่ 1 บล็อกนายจักรกฤษ สำราญ คบ2 คอมพิวเตอร์ศึกษา หมู่ 2 ^_^

วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นวัตกรรม เทคโนโลยีและสารสนเทศทางการศึกษา


คำว่า นวัตกรรมเดิมใช้ นวกรรมมาจากคำว่า นว หรือ นวัต ซึ่งแปลว่า ใหม่ ( เช่น นวธานี, นวนคร = เมืองใหม่, นวพล = พลังใหม่, นวกภิกขุ = พระบวชใหม่) กับคำว่า กรรมซึ่งแปลว่า การกระทำ การทำหรือสิ่งที่ทำ ความคิดและการปฏิบัติ ตรงกับคำภาษาอังกฤษ “Innovation” ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาลาติน in + novare (= new) เป็น Innovare แปลว่า ทำให้ใหม่ (to renew) หรือดัดแปลงเสียใหม่ (to modify) ส่วน Innovate เป็นคำกริยา แปลว่า ทำใหม่ เปลี่ยนแปลงโดยนำสิ่งใหม่เข้ามา เมื่อนำ 2 คำ มารวมกันเป็น นวกรรม หรือ นวัตกรรม ก็จะแปลได้ตรงตัวว่า การกระทำใหม่ หรือกระทำสิ่งใหม่ หมายถึง ทำขึ้นมาใหม่ ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจอยู่ในรูป ความคิด สิ่งของ วัสดุ เครื่องมืออุปกรณ์ หรือวิธีการก็ได้ ดังที่มีผู้ให้ความหมายไว้ (((เรียนรู้เพิ่มเติม)))



เป็นความคิด การปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีใช้มาก่อนหรือเป็นการพัฒนาดัดแปลงจากของเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น... (กิตานันท์ มลิทอง. 2543 : 255)
หมายถึง วิธีการหรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นวิธีการหรือการกระทำใหม่ หรือเป็นสิ่งที่มีผู้คิดค้นขึ้นใหม่ หรืออาจปรับปรุงของเก่าให้ใหม่หรือดีขึ้น เพื่อใช้สิ่งนั้นในการแก้ปัญหาหรือปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น (เอกวิทย์ แก้วประดิษฐ์. 2545 : 8)

เป็นแนวความคิดที่มีเป้าหมายชัดเจน ในการนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ (Nicholls and Allen. 1983 : 4)

ดังกล่าวแล้วว่า เทคโนโลยีการศึกษา เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ หรือใช้ ร่วมกับกระบวนการทางจิตวิทยา และอื่น ๆ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เทคโนโลยีมิได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพคงที่เสมอไป ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีใด ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเปลี่ยนแปลงสถานที่ เปลี่ยนแปลงเวลา เปลี่ยนบุคคลที่ใช้และบุคคลที่ถูกนำไปใช้ เปลี่ยนแปลงสถานที่แวดล้อม ก็อาจจะทำให้ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้น เทคโนโลยีนั้นก็จะยังคงใช้ต่อไป แต่เมื่อประสิทธิภาพลดลง เทคโนโลยีนั้น ๆ จึงต้องมีการปรับปรุงจุดบกพร่องบางส่วน หรือนำเอาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ ซึ่งวิธีการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่หรือวิธีการใหม่ที่นำมาใช้เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation)



            ทอมัส ฮิวซ์ (อ้างในบุญเกื้อ ควรหาเวช, 2542:13) ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรมว่า "เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว โดยเริ่มมาตั้งแต่การคิดค้น (Invention) การพัฒนา (Development) ซึ่งอาจจะเป็นรูปของโครงการทดลองปฏิบัติก่อน (Pilot Project) แล้วจึงนำมาปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา"
มอตัน (อ้างในบุญเกื้อ ควรหาเวช, 2542:13) กล่าวว่า "นวัตกรรม หมายถึง การทำให้ใหม่ขึ้นอีกครั้ง (Renewal) ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงของเก่าและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรตลอดจนหน่วยงานหรือองค์การนั้น ๆ นวัตกรรมไม่ใช่การขจัดหรือล้มล้างสิ่งเก่าให้หมดไป แต่เป็นการปรับปรุงแต่งและพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของระบบ"
ไชยยศ เรืองสุวรรณ (อ้างในบุญเกื้อ ควรหาเวช, 2542:13) กล่าวว่า "นวัตกรรม หมายถึงวิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ ที่แปลกไปจากเดิม โดยอาจจะได้มาจากการคิดค้นพบวิธีการใหม่ ๆ ขึ้นมาหรือมีการปรับปรุงของเก่าให้เหมาะสมและสิ่งทั้งหลายปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น"
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้โดยสรุปว่า "นวัตกรรม เป็นการปรับปรุงดัดแปลงวิธีการเดิม หรือนำเอาวิธีการใหม่มาใช้ในกระบวนการดำเนินงานใดๆ แล้วทำให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม"

เมื่อนำนวัตกรรมมาใช้กับงานใดหรือสาขาใดก็จะเรียกชื่อตามสาขาที่นำมาใช้นั้น เช่น นวัตกรรมการเกษตร นวัตกรรมการสื่อสาร นวัตกรรมการสอน นวัตกรรมการศึกษา เป็นต้น มีผู้ให้ความหมายของนวัตกรรมที่นำมาใช้ในระบบการศึกษาและการเรียนการสอน (educational/instructional innovation) ไว้ เช่น

หมายถึง นวัตกรรมที่จะช่วยให้การศึกษาและการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมเหล่านั้น และประหยัดเวลาในการเรียนอีกด้วย...(กิดานันท์ มลิทอง. 2543 : 256)
เป็นการนำเอาสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของความคิดหรือการกระทำ รวมทั้งสิ่งประดิษฐ์ก็ตาม เข้ามาใช้ในระบบการศึกษา เพื่อมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ระบบการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (บุญเกื้อ ควรหาเวช. 2530 : 5)
จากความรู้เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่กล่าวมาแล้ว และหากทำการศึกษาในเอกสารตำราต่าง ๆ จะพบว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นคำที่มักจะใช้ควบคู่กันเสมอ ๆ เช่น ใช้คำว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยี หรือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือแม้แต่คำว่า นวัตกรรมเทคโนโลยี (ไม่มีคำว่าและ”)หรือในรูปรวมกันเป็นคำเดียวในลักษณะย่นย่อเกิดเป็นคำศัพท์ใหม่ใภาษาอังกฤษ เช่น Technology and Innovation หรือ Innovation and Technology หรือ Innotech (ชื่อหน่วยงาน) เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 คำมีความข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดังที่มีผู้เปรียบเทียบว่า นวัตกรรมเป็นเสมือนหน่อไม้ ส่วนเทคโนโลยีเทียบได้กับลำไม้ไผ่หรือกอไผ่” (ชัยยงค์ พรหมวงศ์. 2523 : 24-25) อธิบาย ได้ว่า เทคโนโลยีต้องผ่านขั้นตอนการเป็นนวัตกรรมมาก่อน ในทางกลับกันถ้าไม่มีลำไม้ไผ่ หรือกอไผ่ (เทคโนโลยี) ก็ไม่มีโอกาสจะมีหน่อไม้ (นวัตกรรม) ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเกี่ยวข้องกันในลักษณะ วงวัฏจักรของการพัฒนาที่ไม่มีการสิ้นสุดและแสดงเป็นภาพความสัมพันธ์ได้ดังภาพที่ 1 (เอกวิทย์ แก้วประดิษฐ์. 2545 : 8)



อนึ่งเทคโนโลยีใด ๆ ที่ใช้ไปเป็นระยะเวลานานหรือภายใต้สภาวการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ย่อมเกิดการ ล้าสมัยขึ้นจึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้อีกต่อไป เว้นแต่จะได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาให้เหมาะสม และนำไปทดลองใช้หรือเผยแพร่เพื่อให้เกิดการยอมรับต่อไป ในช่วงนี้เองเทคโนโลยียังอยู่ในสภาพนวัตกรรมจนกว่าจะได้รับการยอมรับ และนำไปใช้ในระบบปกติอย่างกว้างขวางหรือแพร่หลาย จึงจะถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่สมบูรณ์และต้องการการพัฒนาเพื่อมิให้เกิดการล้าสมัยอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด



ความหมายของนวัตกรรม
         นวัตกรรม” (Innovation) มีรากศัพท์มาจาก innovare ในภาษาลาติน แปลว่า ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา ความหมายของนวัตกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ การนำแนวความคิดใหม่หรือการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือก็คือ การทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ (Change) ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราให้กลายมาเป็นโอกาส (Opportunity) และถ่ายทอดไปสู่แนวความคิดใหม่ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมแนวความคิดนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของนักเศรษฐอุตสาหกรรม เช่น ผลงานของ Joseph Schumpeter ใน The Theory of Economic Development,1934 โดยจะเน้นไปที่การสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะนำไปสู่การได้มาซึ่ง นวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก นวัตกรรมยังหมายถึงความสามารถในการเรียนรู้และนำไปปฎิบัติให้เกิดผลได้จริงอีกด้วย


ความหมายของนวัตกรรมการศึกษา
          “นวัตกรรมการศึกษา (Educational Innovation )” หมายถึง นวัตกรรมที่จะช่วยให้การศึกษา และการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมการศึกษา และประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการใช้นวัตกรรมการศึกษามากมายหลายอย่าง ซึ่งมีทั้งนวัตกรรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว และประเภทที่กำลังเผยแพร่ เช่น การเรียนการสอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Aids Instruction) การใช้แผ่นวิดีทัศน์เชิงโต้ตอบ (Interactive Video) สื่อหลายมิติ ( Hypermedia ) และอินเทอร์เน็ต [Internet] เหล่านี้ เป็นต้น


ความหมายของเทคโนโลยี
          ความเจริญในด้านต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้าทดลองประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ โดยอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เมื่อศึกษาค้นพบและทดลองใช้ได้ผลแล้ว ก็นำออกเผยแพร่ใช้ในกิจการด้านต่างๆ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพในกิจการต่างๆ เหล่านั้น และวิชาการที่ว่าด้วยการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในกิจการด้านต่างๆ จึงเรียกกันว่า วิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือนิยมเรียกกันทั่วไปว่า เทคโนโลยี
เทคโนโลยีี หมายถึงการใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในการแก้ปัญหา ผู้ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ เรียกว่านักเทคโนโลยี (Technologist)


เทคโนโลยีทางการศึกษา
          เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology) ตามรูปศัพท์ เทคโน (วิธีการ) + โลยี(วิทยา) หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการทางการศึกษา ครอบคลุมระบบการนำวิธีการ มาปรับปรุงประสิทธิภาพของการศึกษาให้สูงขึ้นเทคโนโลยีทางการศึกษาครอบคลุมองค์ประกอบ 3 ประการ คือ วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ
          สภาเทคโนโลยีทางการศึกษานานาชาติได้ให้คำจำกัดความของ เทคโนโลยีทางการศึกษา ว่าเป็นการพัฒนาและประยุกต์ระบบเทคนิคและอุปกรณ์ ให้สามารถนำมาใช้ในสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้ของคนให้ดียิ่งขึ้น


เป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษา
  1. การขยายพิสัยของทรัพยากรของการเรียนรู้ กล่าวคือ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มิได้หมายถึงแต่เพียงตำรา ครู และอุปกรณ์การสอน ที่โรงเรียนมีอยู่เท่านั้น แนวคิดทางเทคโนโลยีทางการศึกษา ต้องการให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนจากแหล่งความรู้ที่กว้างขวางออกไปอีก แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ครอบคลุมถึงเรื่องต่างๆ เช่น
     1.1 คน คนเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่สำคัญซึ่งได้แก่ ครู และวิทยากรอื่น ซึ่งอยู่นอกโรงเรียน เช่น เกษตรกร ตำรวจ บุรุษไปรษณีย์ เป็นต้น
     1.2 วัสดุและเครื่องมือ ได้แก่ โสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องวิดีโอเทป ของจริงของจำลองสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงการใช้สื่อมวลชนต่างๆ
     1.3 เทคนิค-วิธีการ แต่เดิมนั้นการเรียนการสอนส่วนมาก ใช้วิธีให้ครูเป็นคนบอกเนื้อหา แก่ผู้เรียนปัจจุบันนั้น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองได้มากที่สุด ครูเป็นเพียง ผู้วางแผนแนะแนวทางเท่านั้น
     1.4 สถานที่ อันได้แก่ โรงเรียน ห้องปฏิบัติการทดลอง โรงฝึกงาน ไร่นา ฟาร์ม ที่ทำการรัฐบาล ภูเขา แม่น้ำ ทะเล หรือสถานที่ใด ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เรียนได้
  2. การเน้นการเรียนรู้แบบเอกัตบุคคล ถึงแม้นักเรียนจะล้นชั้น และกระจัดกระจาย ยากแก่การจัดการศึกษาตามความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ นักการศึกษาและนักจิตวิทยาได้พยายามคิด หาวิธีนำเอาระบบการเรียนแบบตัวต่อตัวมาใช้ แต่แทนที่จะใช้ครูสอนนักเรียนทีละคน เขาก็คิด แบบเรียนโปรแกรมซึ่งทำหน้าที่สอน ซึ่งเหมือนกับครูมาสอน นักเรียนจะเรียนด้วยตนเอง จากแบบเรียนด้วยตนเองในรูปแบบเรียนเป็นเล่ม หรือเครื่องสอนหรือสื่อประสมหลายๆ อย่าง จะเรียนช้าหรือเร็วก็ทำได้ตามความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน
  3. การใช้วิธีวิเคราะห์ระบบในการศึกษา การใช้วิธีระบบ ในการปฏิบัติหรือแก้ปัญหา เป็นวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่เชื่อถือได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหา หรือช่วยให้งานบรรลุเป้าหมายได้ เนื่องจากกระบวนการของวิธีระบบ เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของงานหรือของระบบ อย่างมีเหตุผล หาทางให้ส่วนต่าง ๆ ของระบบทำงาน ประสานสัมพันธ์กันอย่างมีประสิทธิภาพ
  4. พัฒนาเครื่องมือ-วัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา วัสดุและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษา หรือการเรียนการสอนปัจจุบันจะต้องมีการพัฒนา ให้มีศักยภาพ หรือขีดความสามารถในการทำงานให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก



แนวคิดพื้นฐานของนวัตกรรมทางการศึกษา
ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมาก ต่อวิธีการศึกษา ได้แก่แนวความคิดพื้นฐานทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป อันมีผลทำให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาที่สำคัญๆ พอจะสรุปได้  4 ประการ  คือ
  1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different) การจัดการศึกษาของไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลเอาไว้อย่างชัดเจนซึ่งจะเห็นได้จากแผนการศึกษาของชาติ ให้มุ่งจัดการศึกษาตามความถนัดความสนใจ และความสามารถ ของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ การจัดระบบห้องเรียนโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์บ้าง ใช้ความสามารถเป็นเกณฑ์บ้าง นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้
  2. ความพร้อม (Readiness) เดิมทีเดียวเชื่อกันว่า เด็กจะเริ่มเรียนได้ก็ต้องมีความพร้อมซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันการวิจัยทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ชี้ให้เห็นว่าความพร้อมในการเรียนเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ถ้าหากสามารถจัดบทเรียน ให้พอเหมาะกับระดับความสามารถของเด็กแต่ละคน วิชาที่เคยเชื่อกันว่ายาก และไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็กก็สามารถนำมาให้ศึกษาได้ นวัตกรรมที่ตอบสนองแนวความคิดพื้นฐานนี้ได้แก่ ศูนย์การเรียน การจัดโรงเรียนในโรงเรียน นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้
  3. การใช้เวลาเพื่อการศึกษา แต่เดิมมาการจัดเวลาเพื่อการสอน หรือตารางสอนมักจะจัดโดยอาศัยความสะดวกเป็นเกณฑ์ เช่น ถือหน่วยเวลาเป็นชั่วโมง เท่ากันทุกวิชา ทุกวันนอกจากนั้นก็ยังจัดเวลาเรียนเอาไว้แน่นอนเป็นภาคเรียน เป็นปี ในปัจจุบันได้มีความคิดในการจัดเป็นหน่วยเวลาสอนให้สัมพันธ์กับลักษณะของแต่ละวิชาซึ่งจะใช้เวลาไม่เท่ากัน บางวิชาอาจใช้ช่วงสั้นๆ แต่สอนบ่อยครั้ง การเรียนก็ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น นวัตกรรมที่สนองแนวความคิดพื้นฐานด้านนี้
  4. ประสิทธิภาพในการเรียน การขยายตัวทางวิชาการ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้มีสิ่งต่างๆ ที่คนจะต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้นมาก แต่การจัดระบบการศึกษาในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีการใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งในด้านปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้เรียน และปัจจัยภายนอก นวัตกรรมในด้านนี้ที่เกิดขึ้น